มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เข้าร่วมจัดนิทรรศการในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ Thailand Research Expo 2023 วันที่ 7-11 สิงหาคม 2566 ณ ห้องบางกอกคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ ชั้น 22 เซ็นทรัลเวิลด์ ปีนี้มากับผลงาน
“วิถีเครื่องสำอาง BCG จากชุมชนท้องถิ่น สู่การพัฒนาชุมชนสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน” ได้รับชื่อมงคลจาก ศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา วงศ์เกษมจิตต์ รองอธิการบดี, เจ้าของผลงาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาณุพงษ์ ใจวุฒิ รองอธิการบดีและคณะผู้วิจัย และ ดร.ชลิดา ธนินกุลภรณ์ หัวหน้าส่วนจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรมพร้อมทั้งนี้ทีมงานร่วมขับเคลื่อน โดยมีส่วนบริหารงานวิจัยในนามกองเลขาในการจัดนิทรรศการ
โดยนำแนวคิด BCG Model ดึงจุดแข็งทรัพยกรในพื้นถิ่น อาทิ สมุนไพร พืชผลทางการเกษตร มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น เช่น สบู่ แชมพู ผลิตภัณฑ์สปา ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและเส้นผม น้ำมันหอมระเหย น้ำมันนวด เป็นต้น โดยเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากพืชที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนและอ้างอิงจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเหล่านั้น โดยมีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงซึ่งมีนักวิจัยที่มีประสบการณ์ในการช่วยเหลือ ออกแบบ วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เหล่านั้นให้มีคุณภาพ และยังมีนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญการออกแบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สามารถผลักดันโครงการนี้ให้สำเร็จและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่การท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนได้ อีกทั้งปัจจุบันมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก กระทรวง อว. ในการจัดตั้งโรงงานต้นแบบเครื่องสำอางมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในการค้นคว้าวิจัยพัฒนาสูตรให้กับผู้ประกอบการในท้องถิ่น และเป็นโรงงานต้นแบบฯ ที่มุ่งเม้นการสร้างมาตรฐานการผลิตตั้งแต่กระบวนการจัดการวัตถุดิบ กระบวนการแปรรูป รวมถึงกระบวนการเก็บรักษา ที่ได้มาตรฐานทั้งเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนให้กับชุมชนได้อย่างแท้จริง ซึ่งได้ทำการเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงานโรงงานต้นแบบ
มีชุมชนที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพทั้งสิ้นจำนวน 11 ชุมชน จังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสุขภาพและความงามจากฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นในแต่ละชุมชนที่ได้คุณภาพและมาตรฐานระดับสากลเพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยวจำนวน 33 รายการ เกิดกิจกรรมและเส้นทางท่องเที่ยวจำนวน 11 เส้นทาง เกิดช่องทางการตลาดในรูปแบบ Online Market Plate เพิ่มเติมจากช่องทางเดิมที่ชุมชนมีอยู่ จำนวน 1 ช่องทาง ส่งผลให้รายได้ของวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 100% เป็นรายได้ทั้งสิ้นจำนวน 2,391,750 บาท นอกเหนือจากนั้นยังเกิดนวัตกรรมที่จะสามารถขอรับการคุ้มครองในทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ รวมทั้งกิจกรรมที่จัดขึ้นยังเป็นโอกาสให้อาจารย์/นักวิจัยได้เรียนรู้ในการทำงานร่วมกับชุมชน เกิดทักษะและมุมมองในการวิจัยที่สามารถใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมได้จริง และจากฐานของการดำเนินโครงการนี้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้เห็นว่าการพัฒนาชุมชนยังต้องมีความต่อเนื่องและจริงจัง จึงได้ผลักดันให้ชุมชนที่สามารถจะยกระดับได้เพิ่มขึ้นเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะธุรกิจกับอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในปี 2566 จำนวน 2 ชุมชน คือวิสาหกิจชุมชนกลุ่มวิถีไทยวิถียองสันทางหลวง และวิสาหกิจชุมชนศูนย์สมุนไพรบำบัดบ้านม่วงคำ ส่วนชุมชนที่เหลือก็ยังมีแผนในการติดตามและยกระดับเพิ่มมากขึ้นในรูปแบบอื่นๆ ต่อไปในอนาคตตามโอกาสและงบประมาณที่ได้รับสนับสนุนจากรัฐบาลต่อไป และจากการวิเคราะห์ผลกระทบผลตอบแทนเชิงสังคม (Social Return of Investment: SROI) จากการลงทุนโครงการ 1 บาทสามารถสร้างผลกระทบกลับมาให้สังคมถึง 4.33 บาท