สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สถาบันสังคมศาสตร์จีน (Chinese Academy of Social Sciences, CASS) ได้เห็นชอบที่จะเปิดรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมภายใต้โครงการความร่วมมือวิจัยร่วมไทย-จีน ด้านสังคมศาสตร์ ระหว่าง วช. กับ CASS เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางการวิจัยร่วมกันระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน และเพื่อนำองค์ความรู้จากการวิจัยไปสู่การวิเคราะห์และการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม
หัวข้อการวิจัยที่เปิดรับ วช. จะเปิดรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม (เลือกเพียงประเด็นเดียว) ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางระหว่างไทย-จีน (China-Thailand Cooperation in the Framework of the Belt and Road)
ประเด็นที่ 2 วิธีการทางประวัติศาสตร์ของการสร้างประชาคมแห่งอนาคตร่วมกันระหว่างจีนและอาเซียน: จากมุมมองของการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในประวัติศาสตร์ และการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างไทย-จีน (The Historical Logic of Building a Community of Shared Future between China and ASEAN: From the Perspective of the History of Cultural Exchange and Mutual Learning between China and Thailand)
ประเด็นที่ 3 มุมมองเชิงเปรียบเทียบ: การพัฒนาสังคมและการปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมในยุคก่อนประวัติศาสตร์ของจีนตอนใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ประเทศไทย) (A Comparative Perspective: Social Development and Cultural Interactions in Prehistoric South China and Southeast Asia, Thailand)
ลักษณะของทุนและงบประมาณสนับสนุน
1. วช. จะจัดสรรแนวทางการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม ประเด็นละ 1 ทุน ดังนี้
1) ประเด็นที่ 1 ความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางระหว่างไทย-จีน
- วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทย-จีน ภายใต้กรอบความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (The Belt and Road) ในประเทศไทย ด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การก่อสร้างและการขนส่งระบบราง นิคมอุตสาหกรรม การค้าและการลงทุน และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน (People to People Exchange) ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
- เป้าหมาย: แนวทางการสร้างโอกาสและวิธีการรับมือกับความท้าทาย ด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แนวโน้มการลงทุนทางเศรษฐกิจ และการเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักลงทุนไทย-จีน ที่จะเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือไทย-จีนในอนาคต อย่างเป็นระบบและครอบคลุม
2) ประเด็นที่ 2 วิธีการทางประวัติศาสตร์ของการสร้างประชาคมแห่งอนาคตร่วมกันระหว่างจีนและอาเซียน: จากมุมมองของการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในประวัติศาสตร์ และการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างไทย-จีน
- วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างไทย-จีน ผ่านการศึกษาเอกสารทางประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมและประเพณีของชาติพันธุ์ วัตถุทางโบราณคดี เรื่องเล่า และความเชื่อพื้นบ้าน
- เป้าหมาย: ข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทย จีนและอาเซียน ในการเพิ่มความสัมพันธ์อันดีและมีประสิทธิภาพยั่งยืนในอนาคต
3) ประเด็นที่ 3 มุมมองเชิงเปรียบเทียบ: การพัฒนาสังคมและปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมในยุคก่อนประวัติศาสตร์ของจีนตอนใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ประเทศไทย)
- วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาเปรียบเทียบการพัฒนาทางสังคม การปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมการบูรณาการ รูปแบบวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม และปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ระหว่างจีนตอนใต้และประเทศไทย ตั้งแต่ยุคหินเก่าจนถึงยุคหินใหม่จากมุมมองทางโบราณคดี โดยการทบทวนและการศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลทางโบราณคดี การสืบค้นผลการวิจัยร่วมกันในสาขาวิชาต่าง ๆ อาทิ มานุษยวิทยากายภาพ โบราณคดีพฤกษศาสตร์ และสัตววิทยา
- เป้าหมาย: องค์ความรู้ใหม่และผลงานการวิจัยเชิงเปรียบเทียบ ด้านการแลกเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรมในภูมิภาคจีนตอนใต้และประเทศไทย ในการวิเคราะห์เหตุการณ์และสภาพความเป็นอยู่ในอดีต ซึ่งส่งผลต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวไทย-จีนในปัจจุบัน
2. วช. จะสนับสนุนงบประมาณแก่นักวิจัยไทย เป็นเวลา 1 ปี ไม่เกิน 800,000 บาท/โครงการ
- งบประมาณอาจมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะของงานวิจัยและกิจกรรมภายใต้โครงการ
- งบประมาณครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการวิจัยภายในสาธารณรัฐประชาชนจีนที่จำเป็นต่อการดำเนินศึกษาวิจัย
- ค่าธรรมเนียมอุดหนุนสถาบัน ไม่เกินร้อยละ 10 ของงบประมาณ
- งบบุคลากร ได้แก่ งบประมาณที่ใช้ในการจ้างผู้ช่วยวิจัยรวมแล้วจะต้องไม่เกินร้อยละ 30 ของงบวิจัย ไม่รวมค่าตอบแทนคณะผู้วิจัย ค่าครุภัณฑ์ สิ่งก่อสร้าง และค่าธรรมเนียมอุดหนุนสถาบัน
โดยงบประมาณจะไม่สนับสนุน
- ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง การจัดซื้อ หรือโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น การสร้างตึกสำนักงาน สิ่งอำนวยความสะดวกในห้องทดลอง
- ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องมือหลัก
- ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือสำนักงาน (ยกเว้นเครื่องมือพิเศษที่จำเป็นต่อการวิจัย)
การสมัครและการส่งข้อเสนอการการวิจัย (ฝ่ายไทย)
ผู้สนใจส่งข้อเสนอการวิจัยต้องดำเนินการ ดังนี้
1) ดาวน์โหลดประกาศรับข้อเสนอการวิจัยเพื่อศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขการสมัครขอรับทุนได้ที่ http://nriis.nrct.go.th ระหว่างวันที่ 6 – 27 มีนาคม 2567
2) ดาวน์โหลดแบบฟอร์มข้อเสนอการวิจัยและคู่มือการลงทะเบียน รวมทั้งเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ที่ http://nriis.nrct.go.th ระหว่างวันที่ 6 – 27 มีนาคม 2567
3) กรอกรายละเอียดลงในแบบฟอร์มที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน
4) ลงทะเบียนข้อเสนอการวิจัยที่ http://nriis.nrct.go.th โดยเลือกหัวข้อการวิจัยที่ต้องการขอรับทุนและกรอกข้อมูลให้ครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนด ยืนยันการลงทะเบียน ระหว่างวันที่ 6 – 27 มีนาคม 2567 (ปิดรับ 16.30 น.) เท่านั้น หากพ้นกำหนด วช. จะไม่รับพิจารณา
5) หน่วยงานต้นสังกัดของนักวิจัยต้องรับรองข้อเสนอการวิจัยในระบบ NRIIS ภายในวันที่ 3 เมษายน 2567 เวลา 16.30 น. เท่านั้น
*วช. ขอสงวนสิทธิ์ไม่รับข้อเสนอการวิจัยที่มีรายละเอียดข้างต้นไม่ครบถ้วน*
Click >>> รายละเอียด