23-24 ก.ค. 67 MFU Research Expo 2024 งานวิจัยและนวัตกรรมของสำนักวิชาการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กับผลงาน “วิจัยและนวัตกรรมการแพทย์บูรณาการสู่ชีวิตที่ดี” Chapter 6

หมวดหมู่ข่าว: rs-ข่าวประชาสัมพันธ์/งานวิจัยที่ได้รับรางวัล

#MFUResearchNews

#School_of_Integrative_Medicine

Chapter 6

พบกับงานวิจัยและนวัตกรรมของสำนักวิชาการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 23-24 กรกฎาคม 2567 กับผลงาน “วิจัยและนวัตกรรมการแพทย์บูรณาการสู่ชีวิตที่ดี”

1. การพัฒนาสเปรย์ที่มีส่วนประกอบของน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกผลมะแขว่นและการประเมินผลในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมปฐมภูมิ (Formulation development of Zanthoxylum rhetsa pericarp spray and efficacy study in primary knee osteoarthritis patients) โดยหัวหน้าโครงการ อาจารย์ ดร.จุรีภรณ์ อิ้มพัฒน์ และคณะ สเปรย์พ่นเข่าที่มีส่วนประกอบของน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกผลมะแขว่น ร้อยละ 9 มุ่งหมายสำหรับการวิจัยและพัฒนาเพื่อบรรเทาปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ โดยสเปรย์ดังกล่าวมีความคงตัวของลักษณะทางกายภาพ นั่นคือ ใส, ไม่มีสี, เป็นเนื้อเดียวกันและไม่แยกชั้น มีกลิ่นหอมของน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกผลมะแขว่น ซึ่งคล้ายกลิ่นส้ม และพบองค์ประกอบทางเคมีหลักที่สำคัญ คือ ซาบินีน ลิโมนีน และเทอพิเนน-4-ออล โดยมีร้อยละของพื้นที่ใต้กราฟ เท่ากับ 24.94, 100 และ 42.62 ตามลำดับ สเปรย์นี้ ได้ผ่านการทดสอบทางผิวหนังในอาสาสมัครสุขภาพดี จำนวน 12 คน โดยวิธีปิดแผ่นทดสอบ (Patch test) ซึ่งผลการศึกษา พบว่า อาสาสมัครสุขภาพดี จำนวน 5 คน ไม่เกิดการระคายเคืองและการแพ้ทางผิวหนังเลย และอาสาสมัครสุขภาพดี จำนวน 2 คน ขอถอนตัว เนื่องจากไม่สุขสบายที่ผิวหนังจากการปิดแผ่นทดสอบ และอาสาสมัครสุขภาพดี จำนวน 5 คน มีรอยแดงทั่วทั้งบริเวณปิดแผ่นทดสอบ (Angry back syndrome) ซึ่งเป็นความไวทางผิวหนัง (Hyper-reactive) และมีความไวต่อสิ่งจำเพาะที่หลากหลาย (Multiple specific sensitivity) ไม่ว่าจะเป็นสารทดสอบ, แผ่นทดสอบ หรือแผ่นกันน้ำ ซึ่งแปลผลไม่ได้ว่าจำเพาะต่อสิ่งใด (Invalid) และยังผ่านการทดสอบในอาสาสมัครผู้สูงอายุที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมชนิดปฐมภูมิ จำนวน 60 คน โดยเปรียบเทียบประสิทธิผลกับสเปรย์มาตรฐาน ซึ่งมีส่วนประกอบของยาไดโคลฟิแนค ร้อยละ 1 ผลการศึกษา พบว่า ภายหลังจากพ่นสเปรย์ไปแล้ว 2 สัปดาห์ สเปรย์มะแขว่น สามารถบรรเทาปวด (Pain scores: VAS) ที่ข้อเข่าได้ทั้งขณะพัก 10 นาที และภายหลังจากเดิน 20 เมตร โดยมีค่าเฉลี่ยการเปลี่ยนแปลง (Mean change) เท่ากับ 44.18% และ 40.54% ตามลำดับ ซึ่งไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับสเปรย์ไดโคลฟิแนค (p-value = 0.863 และขนาดการทดสอบ (Effect size) = 0.01 และ p-value = 0.177 และขนาดการทดสอบ (Effect size) = 0.40 ตามลำดับ) และส่งผลต่อสมรรถนะของข้อเข่า (WOMAC index scores) ในทิศทางที่ดีขึ้น โดยค่าเฉลี่ยการเปลี่ยนแปลง (Mean change) เท่ากับ 55.82% ซึ่งไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับสเปรย์ไดโคลฟิแนค (p-value = 0.457 และขนาดการทดสอบ (Effect size) = 0.19 จากผลการศึกษาวิจัยนี้ สเปรย์พ่นเข่าที่มีส่วนประกอบของน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกผลมะแขว่น ร้อยละ 9 สามารถเป็นต้นแบบของผลิตภัณฑ์เพื่อการบรรเทาปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อในอุตสาหกรรมด้านการแพทย์ได้ในอนาคต ทั้งนี้ ได้ดำเนินการยื่นจดอนุสิทธิบัตร ตามเลขที่คำขอ 2303000604 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566

 2. ผลของไขมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นนวัตกรรมการรักษาแบบใหม่ ในการรักษาผู้ป่วยโรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ (Effects of cassava wax bath as a new therapeutic approach on patients with plantar fasciitis) หัวหน้าโครงการ รศ. ดร.วิศรุต บุตรากาศ และคณะ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการรักษาด้วยไขมันสำปะหลังซึ่งเป็นวิธีการรักษาใหม่ (cassava wax bath: CWB) โดยเปรียบเทียบกับการรักษาด้วยขี้ผึ้งพาราฟิน ซึ่งเป็นการรักษาดั้งเดิมที่ใช้แพร่หลายในโรงพยาบาล (paraffin wax bath: PWB) ในผู้ป่วยที่เป็นโรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบหรือโรครองช้ำ (Plantar Fasciitis) โดยมีผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด 40 คน (กลุ่ม CWB จำนวน 20 คน, กลุ่ม PWB จำนวน 20 คน) ผู้ป่วยในกลุ่ม CWB ได้รับการรักษาด้วยไขมันสำปะหลัง และผู้ป่วยในกลุ่ม PWB ได้รับการรักษาด้วยขี้ผึ้งพาราฟิน โดยทั้งสองกลุ่มได้รับการรักษา จำนวน 3 ครั้ง/สัปดาห์ เป็นเวลา 5 สัปดาห์ ตัวชี้วัดประสิทธิภาพการรักษาประกอบด้วย ระดับความรุนแรงของความเจ็บปวด (pain intensity: PI), ระดับขีดเริ่มของอาการกดเจ็บ (pressure pain threshold: PPT), ความถี่ของอาการเจ็บปวด (pain frequency: PFr), ความสามารถของเท้าและข้อเท้า (foot and ankle ability measure: FAAM), และองศาการเคลื่อนไหวของการกระดกข้อเท้า(ankle dorsiflexion range of motion: ADROM) ซึ่งทั้งหมดถูกประเมินก่อนและหลังเสร็จสิ้นโปรแกรมการรักษา และประเมินผลอีกครั้ง 3 เดือนหลังจากเสร็จสิ้นการรักษา

ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มมีค่า PI และ PFr ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และค่า PPT, FAAM และ ADROM เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มพบว่าผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มมีค่าตัวชี้วัดทุกตัวดีขึ้นไม่แตกต่างกัน ยกเว้นค่า PFr ที่กลุ่ม CWB มีค่าดีขึ้นมากกว่ากลุ่ม PWB อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าการรักษาด้วยไขมันสำปะหลังเป็นวิธีการรักษาอย่างหนึ่งที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าขี้ผึ้งพาราฟิน ยกเว้นค่า PFr ที่การรักษาด้วยไขมันสำปะหลังให้ผลดีกว่าขี้ผึ้งพาราฟิน

3. ประโยชน์ของโปรแกรมการรำมวยไทยเพื่อพัฒนาความสามารถในการทรงตัวและสมรรถภาพทางกายของผู้สูงอายุที่เสี่ยงต่อการล้มและอาศัยในชุมชน (Balance and functional fitness advantages of a Thai boxing dance program among community-dwelling older adults at risk of falling) โดย หัวหน้าโครงการ รศ. ดร.พัฒนสิน อารีอุดมวงศ์ และคณะ

ในปัจจุบันมีวิธีการที่หลากหลายในการส่งเสริมความสามารถในการทรงตัวและสมรรถภาพทางกายเพื่อลดความเสี่ยงต่อการล้มของผู้สูงอายุ ซึ่งการศิลปวัฒนธรรมที่ผู้สูงอายุคุ้นเคย เช่น การเต้นรำตามบริบทพื้นถิ่นต่าง ๆ สามารถกระตุ้นให้ผู้สูงอายุมีความต้องการในการออกกำลังกายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีการศึกษาที่ค่อนข้างน้อยเกี่ยวกับการศึกษาผลของการประยุกต์ใช้ศิลปะการต่อสู้ของชาติไทย เช่น มวยไทย ซึ่งเป็นซอฟพาวเวอร์หนึ่งของไทยเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะร่างกายและป้องกันการล้มในผู้สูงอายุ ดังนั้น การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินผลกระทบของโปรแกรมการรำมวยไทยต่อความสามารถในการทรงตัวและสมรรถภาพทางกายในผู้สูงอายุที่เสี่ยงต่อการล้มและอาศัยในชุมชน การวิจัยนี้เชิญผู้สูงอายุที่ผ่านเกณฑ์การวิจัยที่มีอายุเฉลี่ย 66-67 ปี เข้าร่วมการวิจัย และถูกสุ่มเข้ากลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการรำมวยไทยเป็นเวลา 4 สัปดาห์ หรือกลุ่มควบคุมที่ได้รับคู่มือป้องกันการล้ม ผู้สูงอายุทุกคนจะได้รับการประเมินตัวชี้วัด ได้แก่ ความสามารถในการทรงตัวขณะยืนนิ่งและขณะมีการเคลื่อนไหว ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา ความคล่องตัว และความยืดหยุ่นของลำตัวในช่วงก่อนและหลังจากเสร็จสิ้น 4 สัปดาห์ของการให้สิ่งทดลอง ตลอดจนมีการติดตามผล 4 เดือนหลังจากเสร็จสิ้นการให้สิ่งทดลอง ผลวิจัยพบว่า ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโปรแกรมการรำมวยไทยเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์มีความสามารถในการทรงตัวขณะยืนนิ่งพร้อมลืมตา ความสามารถในการทรงตัวขณะเคลื่อนไหว ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา ความคล่องตัว และความยืดหยุ่นของลำตัวที่ดีขึ้นกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ กลุ่มโปรแกรมการรำมวยไทยยังแสดงผลดีของตัวชี้วัดต่าง ๆ ยกเว้นความยืดหยุ่นของลำตัวที่ยาวนานถึง 4 สัปดาห์แม้ว่าผู้สูงอายุจะหยุดฝึกโปรแกรมดังกล่าวแล้วก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ การวิจัยนี้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์หนึ่งที่สนับสนุนว่า โปรแกรมการออกกำลังกายมวยไทยเป็นการออกกำลังกายทางเลือกสำหรับเพิ่มความสามารถในการทรงตัวและสมรรถภาพทางกายให้แก่ผู้สูงอายุที่เสี่ยงต่อการล้มและอาศัยในชุมชน

4. ผลความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์กระเทียมดำในอาสาสมัครสุขภาพดี (Safety evaluation of black garlic in healthy volunteers) หัวหน้าโครงการ อ.ดร.นันทกานต์ วุฒิศิลป์และคณะ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความปลอดภัยและประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์กระเทียมดำต่อตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี ทำการศึกษาในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีจำนวน 36 คน อาสาสมัครถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มๆ ละ 18 คน กลุ่มที่ 1 ได้รับผลิตภัณฑ์กระเทียมดำ ในขนาด 3 กรัม/วัน และกลุ่มที่ 2 ได้รับผลิตภัณฑ์กระเทียมดำ ในขนาด 6 กรัม/วัน เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ตรวจประเมินค่าการทำงานของตับ (AST, ALT, และ ALP) ค่าการทำงานของไต (BUN และ creatinine) ค่าทางโลหิตวิทยา และสอบถามอาการที่ไม่พึงประสงค์ทุกๆ 4 สัปดาห์ รวมทั้ง ประเมินระดับความดันโลหิต วัดค่าสัดส่วนของร่างกาย และวิเคราะห์ระดับไขมันในเลือดก่อนและหลังการศึกษา ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ค่าการทำงานของตับและค่า BUN ของทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบทั้งระหว่างกลุ่มและในช่วงระหว่างเข้าร่วมการศึกษา พบการเปลี่ยนแปลงในพารามิเตอร์ของค่าชีวเคมีและโลหิตวิทยาบางตัว ประกอบด้วย creatinine, MCV, MCH และ MCHC แต่อย่างไรก็ตามค่าที่ดังกล่าวยังคงอยู่ในช่วงของค่าปกติและไม่มีความผิดปกติอย่างมีนัยสำคัญทางคลินิก อาสาสมัครมีอาการไม่พึงประสงค์ในระดับเล็กน้อย เช่น อาการท้องอืด เรอ ผายลมบ่อย เป็นต้น นอกจากนี้ ระดับความดันโลหิตและระดับไขมันมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยที่ค่าความดันโลหิตช่วงล่างของทั้งสองกลุ่ม และค่าคอเลสเตอรอลรวมของกลุ่มที่ 2 มีค่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในสัปดาห์ที่ 12 เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการศึกษา จึงสามารถสรุปได้ว่า การบริโภคผลิตภัณฑ์กระเทียมดำในปริมาณ 3 และ 6 กรัม/วัน เป็นเวลา 12 สัปดาห์ มีความปลอดภัยและมีแนวโน้มในการช่วยควบคุมระดับความดันโลหิตและระดับไขมันในอาสาสมัครสุขภาพดี

……..

โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้:

  1. เพื่อนำนวัตกรรมสำนักวิชาขับเคลื่อนชุมชนไปสู่ผลกระทบความเป็นอยู่ที่ดีและอนาคตที่ยั่งยืน
  2. เพื่อส่งเสริมการบูรณาการข้ามศาสตร์ระหว่างสำนักวิชาหรือต่างสาขาวิชา
  3. เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของคณาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และยกย่องเชิดชูเกียรติงานวิจัยที่มีคุณค่า

ภายในงานจะมีกิจกรรมดังนี้:

กิจกรรมประกวดนิทรรศการผลงานวิจัยและนวัตกรรมจาก 15 สำนักวิชา พร้อมการแลกเปลี่ยนการทำงานแบบบูรณาการ

  • กิจกรรมเสวนา "การถอดบทเรียนการขับเคลื่อนงานวิจัยในเชิงพื้นที่สู่สังคมแห่งความเป็นอยู่ที่ดีและยั่งยืน"
  • กิจกรรมเสวนาห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวกับสารเคมี (มอก. 2677-2558) จัดกิจกรรมโดยศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • กิจกรรมเสวนา "ทิศทางการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนในมิติ GMS"
  • กิจกรรมมอบรางวัลผลงานวิจัยและนวัตกรรมของ 3 สาขาวิชา (รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น สาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี,และสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ)

กิจกรรมจะจัดขึ้น ณ ห้องคำมอกหลวง และลานชั้น 5 อาคาร M-SQUARE มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

School of Integrative Medicine - MFU

 

  • 485 ครั้ง
  • #ส่วนบริการงานวิจัย