วช.ประกาศรับสมัครนักศึกษาระดับปริญญาเอกและนักวิจัยระดับหลังปริญญาเอกเพื่อเข้าร่วมโครงการ Hope Meeting ครั้งที่ 16

หมวดหมู่ข่าว: rs-ข่าวทุนวิจัย

วช.ประกาศรับสมัครนักศึกษาระดับปริญญาเอกและนักวิจัยระดับหลังปริญญาเอกเพื่อเข้าร่วมโครงการ Hope Meeting ครั้งที่ 16

 

ด้วย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ องค์การส่งเสริมวิชาการแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Society for the Promotion of Science, JSPS) ได้มีข้อตกลงให้มีความร่วมมือทางวิชาการภายใต้โครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างไทย – ญี่ปุ่น นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้นักวิจัยไทยและนักวิจัยญี่ปุ่นได้มีโอกาสทำการวิจัยร่วมกัน ตลอดจนแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ทางการวิจัยในสาขาวิชาการต่าง ๆ ซึ่งนับว่าเป็นการเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยไทย ซึ่งในช่วงเวลา ๔๐ ปีที่ผ่านมานั้นมีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภูมิภาคเอเชีย การยกระดับของนักวิจัยและความร่วมมือระหว่างประเทศทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภูมิภาคเดียวกันและกับภูมิภาคอื่นนั้นเริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจน การขับเคลื่อนให้รุดหน้าไปในแนวทางนี้จะนำไปสู่การสร้างประชาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ซึ่งต้องอาศัยการสร้างเครือข่ายอันเข้มแข็งระหว่างประเทศในภูมิภาค

.

JSPS ได้ริเริ่มการจัดการประชุม HOPE Meeting โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก ซึ่งจะส่งผลสำคัญในการส่งเสริมความสามารถของนักวิจัยรุ่นเยาว์ ให้มีทรรศนะที่เปิดกว้าง และสามารถพัฒนาความสามารถทางการวิจัยในระดับสูงได้ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมและเปิดโอกาสให้แก่บัณฑิตศึกษาในภูมิภาคในการสร้างเครือข่าย และได้แลกเปลี่ยนความรู้กับผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลและนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากทั่วโลก

  • วัตถุประสงค์ของโครงการ
    • เพื่อขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก    ซึ่งจะส่งผลสำคัญในการส่งเสริมความสามารถของนักวิจัยรุ่นเยาว์ ให้มีทรรศนะที่เปิดกว้าง และสามารถพัฒนาความสามารถทางการวิจัยในระดับสูงได้
    • เพื่อส่งเสริมและเปิดโอกาสให้แก่บัณฑิตศึกษาในภูมิภาค สร้างเครือข่ายและ ได้แลกเปลี่ยนความรู้ในสาขาต่าง ๆ กับผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลและนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากทั่วโลก
  • ขอบข่าย/หัวข้อเรื่องการประชุม

                    สาขาฟิสิกส์  เคมี  สรีรวิทยา/แพทยศาสตร์  และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

  • กิจกรรมภายใต้การประชุม

                    ๑. การบรรยายโดยผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลและนักวิจัยผู้มีชื่อเสียง

                    ๒. การอภิปรายกลุ่มย่อยกับผู้บรรยาย (รูปแบบการสัมมนา)

                    ๓. การนำเสนอผลงานภาคโปสเตอร์ รวมถึงการนำเสนอปากเปล่าเป็นเวลา ๑ นาที

                    ๔. การนำเสนอปากเปล่าโดยทีมผู้เข้าร่วมจากนานาประเทศ

                    ๕. การนำเสนอประสบการณ์ทางวัฒนธรรม

                    ๖. การศึกษาดูงาน (ศูนย์วิจัยและมรดกทางวัฒนธรรม)

  • วัน เวลา และสถานที่

                   ระหว่างวันที่ ๙ – ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๘ ณ เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น

  • จำนวนนักวิจัยไทยที่จะได้รับการเสนอชื่อเข้าร่วมประชุม 

                    จำนวน ๔ ราย

  • รายละเอียดเพิ่มเติม

     ๑. วช. จะพิจารณาใบสมัครที่ได้รับการเสนอชื่อจากทางมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานต้นสังกัดของนักศึกษาหรือนักวิจัยเท่านั้น ทั้งนี้ วช. ขอสงวนสิทธิ์ไม่รับการพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครที่ส่งใบสมัครมายัง วช. โดยตรง

     ๒. ขอให้ผู้สมัครจัดส่งเอกสารฉบับจริงไปยังกลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และจัดส่งเอกสารฉบับสำเนาไปทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ irr@nrct.go.th ภายในวันจันทร์ที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๗ ซึ่งถือเป็นวันสุดท้ายของการรับสมัคร โดยจะถือเอาวันที่ที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติลงตราประทับ รับเอกสารฉบับจริงเป็นสำคัญ ภายในเวลา ๑๖.๓๐ น. เท่านั้น หากพ้นกำหนดดังกล่าว วช. จะไม่รับพิจารณาไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น และผลการพิจารณาของ วช. ถือเป็นที่สิ้นสุด

 

รายละเอียดเพิ่มเติม >> คลิก

 

 

  • 191 ครั้ง
  • #ส่วนบริการงานวิจัย