23-24 ก.ค. 67 MFU Research Expo 2024 งานวิจัยและนวัตกรรมของสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กับผลงาน “สร้างความเป็นอยู่ที่ดีและสังคมที่ดีด้วยกฎหมาย” Chapter 10

หมวดหมู่ข่าว: rs-ข่าวประชาสัมพันธ์/งานวิจัยที่ได้รับรางวัล

 #MFUResearchNews

#School_of_Law

Chapter 10

พบกับงานวิจัยและนวัตกรรมของสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 23-24 กรกฎาคม 2567 กับแนวคิด “สร้างความเป็นอยู่ที่ดีและสังคมที่ดีด้วยกฎหมาย” ประกอบด้วยผลงานดังนี้

 1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย - รัฐธรรมนูญของชนชั้นนำ: ศึกษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 หัวหน้าโครงการ อ.ดร.ณัฐดนัย นาจันทร์ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 (รัฐธรรมนูญฯ 2521) เป็นรัฐธรรมนูญของชนชั้นนำ แม้ความขัดแย้งทางการเมืองอันนำไปสู่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญจะไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างชนชั้นนำทางการเมืองที่เป็นคู่ขัดแย้งกัน ดังที่ได้สันนิษฐานไว้ในแนวคิดว่าด้วยรัฐธรรมนูญของชนชั้นนำ แต่การรัฐประหารซึ่งนำไปสู่การจัดสร้างรัฐธรรมนูญฯ 2521 นั้นสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการสร้างความเข้มแข็งให้กับอำนาจทางการเมืองของชนชั้นนำทางการเมืองในอำนาจ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะเมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้นในปี พ.ศ. 2514 และหากพิจารณาเอกสารประกอบการร่างรัฐธรรมนูญฯ 2521 จะพบว่ากระบวนการร่างนั้นประกอบด้วยการเจรจาต่อรองเพื่อเพิ่มอำนาจให้กับองค์กรทางการเมืองที่ควบคุมโดยชนชั้นนำทางการเมืองในอำนาจอย่างมีนัยยะสำคัญ ได้แก่การกำหนดให้วุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง การกำหนดให้วุฒิสภามีสวนในการเลือกนายกรัฐมนตรี รวมถึงการใช้บายเฉพาะการเพื่อเพิ่มอำนาจพิเศษให้กับนายกรัฐมนตรีภายใต้คำแนะนำของสภานโยบายแห่งชาติ ซึ่งผลการเจรจาต่อรองเหล่านี้ปรากฎอยู่ในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง นอกจากนี้ การสิ้นผลไปของรัฐธรรมนูญฯ 2521 ยังเป็นผลโดยตรงจากความขัดแย้งระหว่าชนชั้นนำทางการเมืองโดยเฉพาะชนชั้นนำทางการเมืองในอำนาจ ดังนั้น รัฐธรรมนูญฯ 2521 จึงมีคุณลักษณะที่สอดคล้องกับข้อเสนอของแนวคิดว่าด้วยรัฐธรรมนูญของชนชั้นนำ และเป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าแนวคิดว่าด้วยรัฐธรรมนูญของชนชั้นนำสามารถถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของรัฐธรรมนูญไทยได้

 2. มาตรการทางกฎหมายในการส่งเสริมการใช้สิทธิบัตรเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย หัวหน้าโครงการ อ.ดร. อัจฉริยา วงษ์บูรณาวาทย์ งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาการใช้สิทธิบัตรเพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในต่างประเทศและประเทศไทย เพื่อวิเคราะห์ถึงสภาพปัญหาที่เกี่ยวข้องและเสนอแนะแนวทางหรือมาตรการที่เหมาะสมในการใช้สิทธิบัตร เพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย โดยศึกษาเปรียบเทียบมาตรการทางกฎหมายและนโยบายของประเทศไทยกับสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจากการศึกษาพบว่าในทั้งสามประเทศนี้ ได้มีการใช้สิทธิบัตรเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการใช้มาตรการทางกฎหมายในการยกเว้นการคุ้มครองสิทธิบัตรแก่การประดิษฐ์ที่หากนำไปใช้ประโยชน์แล้ว อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง

หรือการใช้มาตรการทางนโยบายโดยการให้สิทธิพิเศษแก่คำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้รับการตรวจสอบคำขอแบบเร่งด่วนเพื่อเร่งรัดการออกสิทธิบัตรแก่การประดิษฐ์ดังกล่าวได้รวดเร็ว ซึ่งจากการศึกษากฎหมายสิทธิบัตรของประเทศไทยแล้วพบว่า แม้ว่าประเทศไทยจะมีทั้งมาตรการทางกฎหมายสิทธิบัตรและมาตรการการให้สิทธิเศษที่สามารถนำมาปรับใช้เพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมได้ แต่มาตรการดังกล่าวยังไม่มีความ เหมาะสมและเพียงพอที่จะนำมาใช้เพื่อส่งเสริมการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความไม่ชัดเจนของกฎหมาย ผู้วิจัยจึงเสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 โดยเพิ่ม“การประดิษฐ์ที่หากมีการใช้ประโยชน์แล้วอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง” เป็นเหตุหนึ่งในมาตรา 9 (5) ที่สามารถใช้ในการยกเว้นการคุ้มครองสิทธิบัตรได้ และเสนอให้มีการกำหนดให้การประดิษฐ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้รับสิทธิพิเศษในการยื่นคำขอรับจดทะเบียนไว้ในพระราชบัญญัติสิทธิบัตรฯ ด้วย เพื่อทำให้เป็นมาตรการที่มีความยั่งยืนต่อไป

 3. ปัญหาการดำเนินอธิกรณ์ตามพระธรรมวินัยและการดำเนินกระบวนพิจารณาทางอาญากับพระสงฆ์ : กรณีศึกษาเปรียบเทียบคณะสงฆ์นิกายเถรวาท ประเทศไทยกับประเทศศรีลังกา หัวหน้าโครงการ ผศ.ติณเมธ วงศ์ใหญ่ กรณีที่พระภิกษุได้กระทำความผิดทางอาญาขึ้นย่อมมีวิธีในการจัดการดังกล่าวคือ บังคับไปตามพระธรรมวินัย และบังคับตามกฎหมายบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของพระภิกษุในประเทศไทยนั้น เมื่อพระภิกษุตกเป็นผู้ต้องหา จะต้องบังคับให้พระภิกษุได้สละสมณเพศขาดจากความเป็นพระภิกษุก่อนที่จะเข้ากระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อไป แม้พระภิกษุจะไม่ยินยอมในการสละสมณเพศก็ตาม ซึ่งเป็นผลเสียต่อตัวพระภิกษุเป็นอย่างมาก เนื่องจากได้เสียสิทธิไปซึ่งการสละสมณเพศหรือสมณศักดิ์ที่ได้รับในขณะที่ยังเป็นพระภิกษุ ทั้งที่พระภิกษุเหล่านั้นอาจไม่ได้กระทำความผิดจริงก็ได้

ส่วนในประเทศศรีลังกา ที่มีประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนามาอย่างยาวนานร่วมกับพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ปรากฏว่าพระภิกษุในประเทศศรีลังกานั้นไม่จำต้องสละสมณเพศก่อนเข้ากระบวนการยุติธรรมทางอาญา สามารถมีสถานะความเป็นภิกษุได้ตลอดจนมีคำพิพากษาถึงที่สุด แสดงให้เห็นว่าประเทศศรีลังกาให้สิทธิแก่พระภิกษุเป็นอย่างมาก จะสละสมณเพศได้แต่โดยความยินยอมของภิกษุรูปนั้นเท่านั้น

ดังนี้ จึงเห็นควรศึกษาเปรียบเทียบประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และพระธรรมวินัยในส่วนที่เกี่ยวกับพระภิกษุของประเทศไทยกกับประเทศศรีลังกา เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นความเหมือน และความแตกต่าง เพื่อหามาตราการทางกฎหมายและรูปแบบที่เหมาะสมกับพระภิกษุในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท ในสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันและอนาคตข้างหน้าให้ถูกต้องเหมาะสม และมีความชัดเจนต่อไป

……..

 MFU Research Expo มีวัตถุประสงค์ดังนี้:

  • เพื่อนำนวัตกรรมสำนักวิชาขับเคลื่อนชุมชนไปสู่ผลกระทบความเป็นอยู่ที่ดีและอนาคตที่ยั่งยืน
  • เพื่อส่งเสริมการบูรณาการข้ามศาสตร์ระหว่างสำนักวิชาหรือต่างสาขาวิชา
  • เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของคณาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และยกย่องเชิดชูเกียรติงานวิจัยที่มีคุณค่า

ภายในงานจะมีกิจกรรมดังนี้:

  1. กิจกรรมประกวดนิทรรศการผลงานวิจัยและนวัตกรรมจาก 15 สำนักวิชา พร้อมการแลกเปลี่ยนการทำงานแบบบูรณาการ
  2. กิจกรรมเสวนา "การถอดบทเรียนการขับเคลื่อนงานวิจัยในเชิงพื้นที่สู่สังคมแห่งความเป็นอยู่ที่ดีและยั่งยืน"
  3. กิจกรรมเสวนาห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวกับสารเคมี (มอก. 2677-2558) จัดกิจกรรมโดยศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  4. กิจกรรมเสวนา "ทิศทางการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนในมิติ GMS"กิจกรรมมอบรางวัลผลงานวิจัยและนวัตกรรมของ 3 สาขาวิชา(รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น สาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี,และสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ)

กิจกรรมจะจัดขึ้น ณ ห้องคำมอกหลวง และลานชั้น 5 อาคาร M-SQUARE มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง School of Law,MFU

  • 282 ครั้ง
  • #ส่วนบริการงานวิจัย