23-24 ก.ค. 67 MFU Research Expo 2024 งานวิจัยและนวัตกรรมของสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กับผลงาน “ทันตแพทยศาสตร์สู่การขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตที่ดี” Chapter 12

หมวดหมู่ข่าว: rs-ข่าวประชาสัมพันธ์/งานวิจัยที่ได้รับรางวัล

 #MFUResearchNews
#School_of_Dentistry


Chapter 12


พบกับงานวิจัยและนวัตกรรมของสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 23-24 กรกฎาคม 2567 กับแนวคิด “ทันตแพทยศาสตร์สู่การขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตที่ดี” ประกอบด้วยผลงานดังนี้
1. การแสดงออกของโปรตีนในแคโนนิคอลและนอนแคโนนิคอลอินฟลามาโซมในไลเคนพลานัสช่องปาก (Expressions of proteins in canonical and non-canonical inflammasomes in oral lichen planus) โดย อ.ดร.อนุพงศ์ เมฆอุดมและคณะ มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับโรคไลเคนพลานัสช่องปาก (oral lichen planus; OLP) ซึ่งเป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังและมีความเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน ปรากฏรอยโรคเป็นร่างแหสีขาว เนื้อเยื่อบวมแดงหรือแผลเปิด ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดแสบร้อน พยาธิกำเนิดของโรคมีความเกี่ยวข้องกับเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันที่ทำงานผิดปกติ แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถบอกพยาธิสภาพที่แท้จริงของโรคได้ มีงานวิจัยก่อนหน้านี้เพียงงานวิจัยเดียวของ Thi Do และคณะในปี 2018 พบการแสดงออกที่เพิ่มขึ้นของ nucleotide binding and oligomerization domain (NOD)-like receptor family pyrin domain containing 3 (NLRP3) แคโนนิคอลอินฟลามาโซมในรอยโรค OLP เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ซึ่งอินฟลามาโซมเป็นกลุ่มโปรตีนขนาดใหญ่ในระบบภูมิคุ้มกันที่แสดงออกภายในเซลล์เพื่อตอบสนองต่อการอักเสบ อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างการแสดงออกของโปรตีนกับความรุนแรงของโรค OLP รวมไปถึงการศึกษาการแสดงออกของโปรตีนนอนแคโนนิคอลอินฟลามาโซมกับ OLP ยังไม่มีการรายงานมาก่อน งานวิจัยนี้จึงดำเนินการขึ้นเพื่อเติมเต็มข้อมูลดังกล่าว รวมไปถึงการศึกษา active form ของโปรตีนในอินฟลามาโซมด้วย ดังนั้น จุดประสงค์ของการวิจัย ได้แก่ 1) เพื่อศึกษาการแสดงของโปรตีนทั้งในส่วนแคโนนิคอลและนอนคาโนนิคอลอินฟลามาโซมด้วยเทคนิค immunohistochemistry ในรอยโรค OLP เปรียบเทียบกับเนื้อเยื่อเหงือกปกติของอาสาสมัครที่มีช่วงอายุและเพศตรงกัน 2) เพื่อศึกษา active form ของโปรตีนจากสารสกัดโปรตีนที่มาจากเนื้อเยื่อ OLP เปรียบเทียบกับโปรตีนที่มาจากเนื้อเยื่อหงือกปกติด้วยวิธี Western blot และ 3) เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างความรุนแรงของโรค OLP กับระดับการแสดงออกของโปรตีนในอินฟลามาโซม ผลการศึกษาพบว่ามีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของการแสดงออกของโปรตีนอินฟลามาโซมบางชนิด โดยเฉพาะโปรตีนในกลุ่มนอนแคโนนิคอลอินฟลามาโซม ในรอยโรค OLP มากกว่าเนื้อเยื่อปกติ และยังพบความสัมพันธ์ระหว่างการแสดงออกของโปรตีนดังกล่าวกับความรุนแรงของโรค OLP อีกด้วย ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของโปรตีนในแคโนนิคอลและนอนแคโนนิคอลอินฟลามาโซมต่อการดำเนินของโรคและความรุนแรงของโรค โดยในอนาคตอาจนำไปสู่การรักษาอย่างจำเพาะโดยพุ่งเป้าไปยังโปรตีนเหล่านี้ในการรักษาหรือบรรเทาอาการของโรค OLP แทนที่การรักษาแบบไม่จำเพาะโดยการให้ยาสเตียรอยด์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
2. งานวิจัยเรื่อง การส่งสัญญาณของการกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงและการสะสมแร่ธาตุของเซลล์สร้างกระดูกของมนุษย์ด้วยแคนาบิไดออล (Signaling Pathway of Cannabidiol-induced Differentiation and Bio-mineralization in Human Primary Osteoblasts) โดย อ.ดร.อนุพงศ์ เมฆอุดมและคณะ มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการศึกษาฤทธิ์และการส่งสัญญาณภายในเซลล์ของแคนาบิไดออลต่อการกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงและการสะสมแร่ธาตุของเซลล์สร้างกระดูกของมนุษย์ โดยแคนาบิไดออล (Cannabidiol; CBD) เป็นสารชีวโมเลกุลที่เป็นส่วนประกอบของพืชในกลุ่มกัญชาและกัญชง เป็นสารออกฤทธิ์ที่ไม่มีผลต่อจิตประสาท เนื่องจากมีฤทธิ์ทางชีวภาพที่หลากหลายจึงได้มีการนำมาใช้เพื่อการรักษาในโรคต่างๆ เช่น โรคสมองเสื่อม โรคกระดูกพรุน เป็นต้น จากงานวิจัยก่อนหน้านี้ของกลุ่มนักวิจัยเองพบว่า CBD กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ไฟโบรบลาสต์เหงือกของมนุษย์แต่ยังขาดข้อมูลต่อเซลล์สร้างกระดูกของมนุษย์ซึ่งเป็นเซลล์ในกลุ่ม mesenchymal เช่นกัน ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาฤทธิ์ในการกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์สร้างกระดูกจากเซลล์ซึ่งสกัดมาจากกระดูกขากรรไกรของมนุษย์ และเพื่อศึกษากลไกการส่งสัญญาณภายในเซลล์ที่เกี่ยวข้อง โดยเริ่มจากการทดสอบความเป็นพิษของ CBD ที่ความเข้มข้นต่างๆ กับเซลล์ต้นกำเนิดเซลล์สร้างกระดูก เพื่อหาความเข้มข้นที่เหมาะสม จากนั้นทำการกระตุ้นเซลล์ต้นกำเนิดเซลล์สร้างกระดูกด้วยความเข้มข้นของ CBD ที่ไม่เป็นพิษกับเซลล์ใน osteogenic condition แล้วย้อมเซลล์เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงและการสะสมแร่ธาตุของเซลล์ด้วยการย้อม Alkaline phosphatase (ALP), Alizarin red, และ von Kossa ตามลำดับ การแสดงออกของยีนของเซลล์สร้างกระดูกจะถูกวัดด้วย RT-qPCR นอกจากนี้ยังมีการศึกษาโมเลกุลภายในเซลล์ได้แก่ Akt และ beta-catenin ซึ่งเป็นโปรตีนส่งสัญญาณที่สำคัญในกระบวนการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์สร้างกระดูก ด้วยเทคนิค Western blotting และ inhibitor study ด้วย ผลการทดลองพบว่า CBD ความเข้มข้นสูงสุด 10 ไมโครโมลาร์ ไม่แสดงความเป็นพิษต่อเซลล์ที่เวลา 72 ชั่วโมง และความเข้มข้น CBD ที่ 1, 3, หรือ 10 ไมโครโมลาร์ ยังสามารถกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงและการสะสมแร่ธาตุของเซลล์สร้างกระดูก สอดคล้องกับการเพิ่มการแสดงของยีนของเซลล์สร้างกระดูกด้วย นอกจากนั้น ยังพบว่าการแสดงของ Akt และการสะสมของ beta-catenin ในเซลล์เพิ่มสูงขึ้นในระหว่างการกระตุ้นด้วย CBD เมื่อเปรียบเทียบกับสภาวะที่ไม่มีการกระตุ้น การใช้อินฮิบิเตอร์ต่อ beta-catenin (CWP232228) และอินฮิบิเตอร์ต่อ Akt (MK-2206) ทำให้ผลการกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงและสะสมแร่ธาตุของเซลล์สร้างกระดูกด้วย CBD ลดลง ช่วยยืนยันการสัญญาณของ CBD ผ่านโมเลกุลดังกล่าว จากผลการทดลองดังที่กล่าวมาจึงชี้ให้เห็นว่า CBD สามารถกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงและการสะสมแร่ธาตุของเซลล์สร้างกระดูกจากกระดูกขากรรไกรของมนุษย์ได้ และน่าจะส่งสัญญาณผ่าน Akt/beta-catenin-dependent pathway ในอนาคต CBD จึงอาจเป็นตัวเลือกหนึ่งซึ่งถูกนำมาใช้ในการรักษาหรือทุเลาอาการของโรคในช่องปากที่มีการทำลายของกระดูก เช่น ผู้ป่วยที่มีภาวะปริทันต์อักเสบมีการสลายของกระดูกขากรรไกร เป็นต้น
3. การเหนี่ยวนำให้เกิดการสร้างกระดูกโดยเซลล์สลายกระดูก(Human osteoclasts enhance osteogenic differentiation of bone stromal cells) โดย อ.ทพ.สุมิตร สูอำพันและคณะ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการปรับแต่งรูปร่างกระดูกนั้นเกิดขึ้นจากการทำงานของเซลล์สร้างกระดูกและเซลล์สลายกระดูก เป็นที่ทราบกันดีว่าเซลล์สร้างกระดูกสามารถเหนี่ยวนำให้เซลล์ตั้งต้นของเซลล์สลายกระดูกเกิดการแปรเปลี่ยนเป็นเซลล์สลายกระดูกที่โตเต็มที่ โดยอาศัยโมเลกุลแรงค์ไลแกนของเซลล์สร้างกระดูก กระตุ้นไปยังโมเลกุลแรงค์บนผิวเซลล์ตั้งต้นของเซลล์สลายกระดูก (RANKL-RANK signaling) ต่อมาได้มีงานวิจัยที่พบว่า มีการส่งสัญญาณแบบย้อนกลับ จากโมเลกุลแรงค์ของเซลล์ลายกระดูก ผ่านทางเวสิเคิลนอกเซลล์ กระตุ้นไปยังแรงค์ไลแกนบนผิวเซลล์สร้างกระดูกของหนู และเซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์ของมนุษย์ (RANK-RANKL reverse signaling) ส่งผลให้เกิดการสร้างกระดูกใหม่
วัตถุประสงค์ งานวิจัยนี้ทำการศึกษาถึง การส่งสัญญาณแบบย้อนกลับ จากเวสิเคิลนอกเซลล์ของเซลล์ลายกระดูกของมนุษย์ ต่อแรงค์ไลแกนบนผิวเซลล์จากกระดูกชั้นสตอร์มอลที่ได้จากกระดูกขากรรไกรล่างของมนุษย์ ผ่านการแสดงออกของยีนส์และการสะสมแร่ธาตุในหลอดทดลอง 
วิธีการศึกษา เซลล์จากกระดูกชั้นสตอร์มอลที่ได้จากการตัดปุ่มกระดูกขากรรไกรล่าง ซึ่งยืนยันโดยการวัดได้ผลบวกของตัวบ่งชี้ของเซลล์มีเซนไคม์และได้ผลลบของตัวบ่งชี้เซลล์ในระบบเลือด  เซลล์สลายกระดูกได้มาจากการเจาะเลือดอาสาสมัครเพื่อนำเซลล์โมโนไซด์มากระตุ้นให้เป็นเซลล์สลายกระดูกที่โตเต็มวัย ซึ่งยืนยันโดยการย้อมดูการมีหลายนิวเคลียสและการสร้างแอคตินริงค์  สารอาหารเลี้ยงเซลล์ที่ใช้เลี้ยงเซลล์สลายกระดูกถูกนำมาใช้กับเซลล์จากกระดูกชั้นสตอร์มอล เพื่อดูการการแสดงออกของยีนส์และการสะสมแร่ธาตุ เปรียบเทียบกับเซลล์จากกระดูกชั้นสตอร์มอลที่ถูกบ่มก่อนด้วย osteoprotegerin (OPG) ซึ่งเป็นตัวแย่งจับกับแรงค์ไลแกนบนผิวเซลล์ นอกจากนี้ ทำการเปรียบเทียบกับเซลล์จากกระดูกชั้นสตอร์มอลที่ถูกให้สารอาหารเลี้ยงเซลล์ที่ใช้เลี้ยงเซลล์สลายกระดูกที่ผ่านการใส่ GW4869 ซึ่งเป็นสารยับยั้งการสร้างและปล่อยเวสิเคิลนอกเซลล์
ผลการศึกษา การแสดงออกของยีนส์ RUNX2, Osterix และ COL1A1 รวมถึงการย้อม alkaline phosphatase และการสะสมแร่ธาตุ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในเซลล์จากกระดูกชั้นสตอร์มอลที่ถูกให้สารอาหารเลี้ยงเซลล์ที่ใช้เลี้ยงเซลล์สลายกระดูก ซึ่งผลทั้งหมดมีระดับที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อใช้ OPG บ่มกับเซลล์จากกระดูกชั้นสตอร์มอล ส่วนการใช้สารอาหารเลี้ยงเซลล์ที่ผ่านการใส่ GW4869 ส่งผลให้ RUNX2 และ Osterix และ รวมถึงการย้อม alkaline phosphatase และการสะสมแร่ธาตุ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05)
สรุปผลการศึกษา เซลล์สลายกระดูกของมนุษย์สามารถเหนี่ยวนำให้เกิดการสร้างกระดูกของเซลล์จากกระดูกชั้นสตอร์มอล ผ่านการส่งสัญญาณแบบย้อนกลับ แรงค์-แรงค์ไลแกน
…….. 


MFU Research Expo มีวัตถุประสงค์ดังนี้: 

  1.  เพื่อนำนวัตกรรมสำนักวิชาขับเคลื่อนชุมชนไปสู่ผลกระทบความเป็นอยู่ที่ดีและอนาคตที่ยั่งยืน
  2.  เพื่อส่งเสริมการบูรณาการข้ามศาสตร์ระหว่างสำนักวิชาหรือต่างสาขาวิชา
  3.  เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของคณาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และยกย่องเชิดชูเกียรติงานวิจัยที่มีคุณค่า 

ภายในงานจะมีกิจกรรมดังนี้: 

  •  กิจกรรมประกวดนิทรรศการผลงานวิจัยและนวัตกรรมจาก 15 สำนักวิชา พร้อมการแลกเปลี่ยนการทำงานแบบบูรณาการ 
  •  กิจกรรมเสวนา "การถอดบทเรียนการขับเคลื่อนงานวิจัยในเชิงพื้นที่สู่สังคมแห่งความเป็นอยู่ที่ดีและยั่งยืน"
  • กิจกรรมเสวนาห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวกับสารเคมี (มอก. 2677-2558) จัดกิจกรรมโดย ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 
  • กิจกรรมเสวนา "ทิศทางการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนในมิติ GMS" กิจกรรมมอบรางวัลผลงานวิจัยและนวัตกรรมของ 3 สาขา  วิชา(รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น สาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, และสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ) 

 

กิจกรรมจะจัดขึ้น ณ ห้องคำมอกหลวง และลานชั้น 5 อาคาร M-SQUARE มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 

School of Dentistry , Mae Fah Luang University

 

  • 356 ครั้ง
  • #ส่วนบริการงานวิจัย