มฟล. คว้ารางวัล Silver Award ในงาน Thailand Research Expo 2024   ปลื้มรับรางวัล 4 ปีซ้อน ตอกย้ำความสำเร็จด้านการวิจัยและนวัตกรรมขับเคลื่อนการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีและอนาคตที่ยั่งยืน 

หมวดหมู่ข่าว: rs-ข่าวประชาสัมพันธ์/งานวิจัยที่ได้รับรางวัล

 มฟล. คว้ารางวัล Silver Award ในงาน Thailand Research Expo 2024 

 ปลื้มรับรางวัล 4 ปีซ้อน ตอกย้ำความสำเร็จด้านการวิจัยและนวัตกรรมขับเคลื่อนการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีและอนาคตที่ยั่งยืน 

 ผลงาน: "พลิกฟื้นทุนวัฒนธรรมเชียงรายสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ UNESCO"  ผงาดคว้าชัย Silver Award ในงาน Thailand Research Expo 2024 จากสถาบันที่เข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 139 สถาบัน เจ้าของผลงานโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง หัวหน้าพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง และคณะ ได้รับโล่รางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ในการนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา วงศ์เกษมจิตต์ รองอธิการบดี เป็นผู้รับมอบ และท่านเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวง อว. เป็นผู้มอบรางวัล

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ภูมิใจเสนอความสำเร็จในการพลิกฟื้นทุนทางวัฒนธรรมของเชียงรายผ่านโครงการวิจัยที่เป็นส่วนหนึ่งที่นำไปขับเคลื่อนเมืองเชียงรายได้รับการยอมรับจากยูเนสโกในฐานะ "เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ" (UNESCO Creative Cities of Design)  งานวิจัยนี้เริ่มต้นในปี 2564 ถึง 2566 และดำเนินการในพื้นที่แอ่งอารยธรรมเชียงแสน

เชียงรายได้เผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมจากการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม  โครงการวิจัยของมฟล. มุ่งหวังฟื้นฟูทุนทางวัฒนธรรมที่อ่อนแอลงและสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนในพื้นที่แอ่งเชียงแสน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้ขับเคลื่อนนำต้นทุนองค์ความรู้ด้านทุนทางวัฒนธรรมที่สั่งสมและได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) มาตลอด 3 ปี ผ่านโครงการ:

• ปี 2564: โครงการ "ย่านแม่คำสบเปิน"  จัดการทุนทางวัฒนธรรมเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน • ปี 2565: โครงการ "เชียงแสนสร้างสรรค์"  พัฒนาเศรษฐกิจและอัตลักษณ์พื้นที่ • ปี 2566: โครงการ "ภูมิทัศน์ของตำนาน"  สำรวจทุนทางวัฒนธรรมและตำนานท้องถิ่น

โดยฉายความสำเร็จของโครงการจากกระบวนการรื้อฟื้นทุนทางวัฒนธรรมได้รวบรวมในระบบแผนที่ทางวัฒนธรรม จำนวน 280 รายการ  สร้างรายได้ให้กับชุมชน จำนวน 70 รายการ  มีผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม จำนวน 40 ราย  ร่วมโครงการ ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15 ต่อปี  มีผู้ได้รับผลประโยชน์ในพื้นที่ จำนวน 1,500 คน  โดยการประเมินผลตอบแทนทางสังคมรวม (Social Return On Investment : SROI) เท่ากับ 1 : 3.56 บาท ได้ทรัพย์สินทางปัญญาและกระบวนการเรียนรู้ 12 รายการ  มีผลทำให้ชุมชนมีความสามารถในการขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน นับเป็นก้าวสำคัญในการฟื้นฟูทุนทางวัฒนธรรมของเชียงรายและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ทั้งยังสร้างชื่อเสียงให้กับเมืองในเวทีนานาชาติ  การขับเคลื่อนด้วยแนวคิดของยูเนสโกและการออกแบบพื้นถิ่นส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและการสร้างสรรค์ในระดับโลก สามารถนำไปผลักดันให้เมืองเชียงรายได้รับการยอมรับให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network – UCCN) โดยเชียงรายเป็นเมืองสร้างสรรค์ ด้านการออกแบบ (City of Design) ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2566

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้ผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นการต่อยอดงานวิจัยขั้นพื้นฐานสู่การพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมนวัตกรรมสู่การพัฒนาเชิงพื้นที่ช่วยเหลือสังคม เป็นมหาวิทยาลัยแห่ง Well-being and Sustainable Future  เป็นอีกหนึ่งผลงานที่สร้างความภูมิใจให้กับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมาอย่างต่อเนื่อง โดยผลงานประจักษ์ได้รับรางวัล 4 ปีซ้อน ดังนี้:

Platinum Award 2021: ‘การพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกขมิ้นชันปลอดโรคและสารสำคัญสูงด้วยระบบ Substrate Culture’  รองศาสตราจารย์ ดร.ระวิวรรณ เจริญทรัพย์ หัวหน้าโครงการฯ

Bronze Award 2022: ‘โครงการพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกรและผู้ประกอบการกาแฟอาราบิก้าในชุมชนจังหวัดเชียงรายตลอดห่วงโซ่อุปทาน’  ดร.ชลิดา ธนินกูลภรณ์ หัวหน้าโครงการฯ

Silver Award 2023: ‘วิถีเครื่องสำอาง BCG จากชุมชนท้องถิ่น สู่การพัฒนาชุมชนสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน’  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาณุพงษ์ ใจวุฒิ ผู้บริหารแผนงานฯ

Silver Award 2024: ‘พลิกฟื้นทุนทางวัฒนธรรมของเชียงรายสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ UNESCO’  รองศาสตราจารย์ ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง หัวหน้าโครงการฯ

 “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024)” ระหว่างวันที่ 26 – 30 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

PMU ทุนทางวัฒนธรรม

ม.แม่ฟ้าหลวง Mae Fah Luang University

 

  • 37 ครั้ง
  • #ส่วนบริการงานวิจัย