Art Toys: พลังการสื่อสารใหม่ของคนรุ่นใหม่กับวัฒนธรรมท้องถิ่น

หมวดหมู่ข่าว: rs-ข่าวประชาสัมพันธ์/งานวิจัยที่ได้รับรางวัล

Art Toys: พลังการสื่อสารใหม่ของคนรุ่นใหม่กับวัฒนธรรมท้องถิ่น

>>>

ในยุคที่การสื่อสารผ่านศิลปะมีความหลากหลายและทรงพลังมากขึ้น หนึ่งในรูปแบบที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายคือ Art Toys ซึ่งเป็นมากกว่าของสะสมที่น่ารัก แต่เป็นเครื่องมือในการสื่อสารอารมณ์ ความรู้สึก และวัฒนธรรมท้องถิ่นของคนรุ่นใหม่

.

รศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง อาจารย์ประจำสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้กล่าวถึงการเติบโตของ Art Toys ในไทยว่า “Art Toys คือรูปแบบหนึ่งของศิลปะร่วมสมัยที่ไม่เพียงแต่ดึงดูดสายตาผู้คนด้วยความน่ารัก (Kawaii) แต่ยังแฝงไปด้วยเนื้อหาที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นไทยได้อย่างลึกซึ้ง”

.

แนวคิดเรื่อง Kawaii หรือความน่ารักแบบญี่ปุ่น ถือเป็นหัวใจหลักที่ทำให้ Art Toys กลายเป็นสื่อที่เข้าถึงง่ายสำหรับคนทุกเพศทุกวัย โดยงานวิจัยของญี่ปุ่นได้ศึกษาพบว่าความ Kawaii ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 1.รูปร่างกลมๆ ที่น่ากอด 2.การย่อส่วน 3.การแสดงความเป็นเด็ก และ 4.การเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ซึ่งศิลปินไทยได้นำแนวคิดเหล่านี้มาปรับใช้กับวัฒนธรรมไทย โดยมีการตั้งคำถามว่า "ความน่ารักแบบไทยๆ นั้นมีอยู่หรือไม่" และได้ข้อสรุปว่า "ความน่ารัก" แบบไทยมีอยู่ซึ่งสามารถถูกพัฒนาและปรับให้เข้ากับความรู้สึกและอารมณ์ของคนในท้องถิ่นได้

.

“ความน่ารักในแบบไทยเป็นเรื่องที่ยังต้องพัฒนา แต่สามารถใช้ Art Toys เป็นสื่อกลางในการสร้างความเข้าใจและสื่อสารได้อย่างทรงพลัง” รศ.ดร.พลวัฒ กล่าวเสริม

.

Art Toys ไม่ได้เป็นเพียงแค่ของสะสมที่สวยงาม แต่ยังเป็นเครื่องมือในการสื่อสารความรู้สึกของผู้คนในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นความเศร้า เหงา หรือสุข “Art Toys สื่อสารอารมณ์ร่วมสมัยของคนรุ่นใหม่ได้ดีมาก ศิลปินรุ่นใหม่ใช้ Art Toys ในการสื่อสารอารมณ์ที่บางครั้งไม่สามารถแสดงออกมาได้ผ่านคำพูด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ Art Toys กลายเป็นเหมือนเพื่อนที่คอยรับฟังและสะท้อนความรู้สึกของผู้สร้างและผู้สะสม เช่น ถ้ารู้สึกเศร้า Art Toy อย่าง "Cry Baby" ก็สามารถเป็นตัวแทนความรู้สึกนั้นได้" รศ.ดร.พลวัฒ กล่าว

.

นอกจากนี้ศิลปินไทยยังใช้ Art Toys เป็นสื่อกลางในการนำเสนอเรื่องราวจากวัฒนธรรมและตำนานพื้นบ้าน ตัวอย่างเช่น การสร้างตัวละครจากตำนาน "ปลาไหลเผือก" ของเมืองโยนกนครในตำนานของล้านนา โดยมีการปรับเปลี่ยนเรื่องราวให้เข้าถึงได้ง่ายผ่าน Art Toys ตัวละครนี้ถูกเล่าใหม่ในเชิงสร้างสรรค์ว่า ถ้าสามารถคืนปลาไหลเผือกให้กับพญานาค เมืองโยนกก็จะกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เป็นการสื่อสารปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมผ่านมุมมองของคนรุ่นใหม่

.

การเติบโตของ Art Toys ในประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวในชุมชนศิลปะรุ่นใหม่ ซึ่งเชียงรายเป็นตัวอย่างที่สำคัญของการขับเคลื่อนนี้ รศ.ดร.พลวัฒ อธิบายว่า “เชียงรายกำลังกลายเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่ผสมผสานงานศิลปะกับการออกแบบเข้ากับวิถีชีวิตของชุมชน กลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ ประชาชน และหน่วยงานภาครัฐได้ร่วมกันสร้างเชียงรายจนกลายเป็น Creative City ที่เป็นเสมือนแพลตฟอร์มในการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในท้องถิ่น Art Toys จึงไม่เพียงแค่เป็นของสะสมที่น่ารักและมีมูลค่า แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารวัฒนธรรมและอารมณ์ของคนในยุคปัจจุบันอย่างทรงพลัง"

.

สนับสนุนโดย : กองทุนส่งเสริม ววน. และหน่วย บพท.

.

.

#TSRI #สกสว #สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม #เคลื่อนไทยด้วยวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม #ResearchCafe #ArtToys #ศิลปะร่วมสมัย #เชียงราย #CreativeCity #วัฒนธรรมไทย #SoftPower 

  • 116 ครั้ง
  • #ส่วนบริการงานวิจัย