มฟล. ผลักดันผลงานวิจัยสู่กระบวนการนิติบัญญัติ
พิธีลงนามบันทึกความตกลงความร่วมมือ ว่าด้วย การนำผลงานทางวิชาการและผลงานการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในกระบวนการนิติบัญญัติ ระหว่าง สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา กับ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 09.00 - 10.30 นาฬิกา ณ ห้องประชุม 402 – 403 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ว่าด้วย การนำผลงานทางวิชาการและผลงานการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในกระบวนการนิติบัญญัติ ระหว่าง สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา กับ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา วงศ์เกษมจิตต์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นพยานในการลงนาม และ คุณกานต์กุญช์ บำรุงชาติ หัวหน้าส่วนบริหารงานวิจัย สนับสนุนกิจกรรมในครั้งนี้
พิธีในครั้งนี้ได้รับความกรุณาเป็นอย่างสูงจาก พลเอกเกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง
ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี พร้อมกันนั้นยังมี คุณบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง และคณะกรรมการวิจัยและพัฒนาของวุฒิสภา รวมถึงคณะผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาที่เข้าร่วมเพื่อเป็นเกียรติและเป็นสักขีพยานในพิธีดังกล่าว
ทั้งนี้ ในพิธีลงนามนี้ ทางฝั่งของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภามี คุณปัณณิตา สท้านไตรภพ เลขาธิการวุฒิสภา เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
โดยความร่วมมือในครั้งนี้ ระหว่าง สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาและมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีวัตถุประสงค์เพื่อ สนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือด้านวิชาการ
ผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับงานนิติบัญญัติและด้านอื่น ๆ อันจะนำไปสู่การนำข้อมูลและองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและงานวิชาการไปใช้ประโยชน์ในกระบวนการนิติบัญญัติ
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงคาดหวังว่า ข้อมูลและองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและงานทางวิชาการของคณาจารย์และนักวิจัย
จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยที่ว่า “บ่มเพาะทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ พัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการ”
หลังจากพิธีลงนามเสร็จสิ้น ผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้นำผู้บริหารมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงชมผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงที่ได้มีการเผยแพร่ผลงานแก่วุฒิสภามาก่อนหน้านี้ ซึ่งได้รับการยอมรับและชมเชยอย่างสูง โดยการนำเสนอผลงานดังกล่าวช่วยเสริมสร้างความร่วมมือในด้านวิชาการและการวิจัย เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนางานด้านนิติบัญญัติให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น