มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสถาบันทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (เอกชนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้)

หมวดหมู่ข่าว: rs-ข่าวประชาสัมพันธ์/งานวิจัยที่ได้รับรางวัล

             สถาบันวิจัยและนวัตกรรมมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้รับการแต่งตั้งจากสรรพากรให้เป็นหน่วยงาน "ผู้รับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลนีและนวัตกรรม" หน่วยงานในลำดับที่ 621 ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเรื่อง "รายชื่อผู้รับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ฉบับที่ 203)"  ซึ่งจะส่งผลให้ภาคเอกชนที่มาจ้างสถาบันวิจัยและนวัตกรรมมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ทำวิจัยสามารถนำไปลดหย่อนภาษีในอัตราพิเศษ (อัตราพิเศษขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐในแต่ละปี) โดยขอบเขตงานที่เกี่ยวข้องตามประกาศกระทรางการคลัง เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 391) เรื่อง "กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยกเว้นภาษีเงินได้สําหรับรายจ่ายเพื่อทําการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม" ดังไฟล์แนบมาพร้อมนี้

    - ประเภทกิจกรรมงานวิจัยฯ ที่ผู้ว่าจ้างสามารถนำไปลดหย่อนภาษีในอัตราพิเศษได้ ประกอบด้วย
        1. การดำเนินงานเชิงทฤษฎี เชิงปฏิบัติการ หรือการดำเนินงานใดๆ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้าง ค้นหาความรู้ใหม่ หรือเพื่อความก้าวหน้าจากความรู้เดิมที่มีอยู่
        2. การค้นคว้า การวิจัย การพัฒนา หรือการดำเนินการอื่นใด เพื่อใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้พื้นฐาน
        3. การคิดค้นสูตรหรือการออกแบบเพื่อประยุกต์ใช้ประโยชน์
        4. การทดสอบเพื่อค้นหาหรือประเมินทางเลือกต่างๆ ของผลิตภัณฑ์ใหม่ บรรจุภัณฑ์ใหม่ กระบวนการใหม่ และการบริการใหม่
        5. การออกแบบ สร้างและการทดสอบ ชิ้นงาน ต้นแบบ หุ่นจำลอง และชุดพัฒนา
        6. การออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ กระบวนการ การบริการ หรือการปรับปรุงของเดิมอย่างมีสาระสำคัญ หรือระบบใดๆ ที่สัมพันธ์โดยตรงกับการวิจัยและพัฒนา
        7. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (Industrial Prototype)
        8. การสร้างกระบวนการผลิตนำร่อง และการพัฒนาโรงงานนำร่อง ที่ต้องมีการออกแบบทางวิศวกรรมและ/หรือการทดสอบอย่างเข้มข้น
        9. กิจกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องของผลิตภัณฑ์ใหม่ หลังจากที่ผลิตภัณฑ์นั้นเข้าสู่กระบวนการผลิต หรือข้อบกพร่องของกระบวนการผลิตใหม่หลังจากที่กระบวนการผลิตนั้นถูกนำมาใช้แล้ว
        10. งานวิศวกรรมอุตสาหการและการพัฒนาเครื่องมือเพื่อใช้ในการพัฒนา/ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ใหม่หรือกระบวนการผลิตใหม่ที่สัมพันธ์โดยตรงกับการวิจัยและพัฒนา
        11. การออกแบบเพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือกระบวนการผลิตใหม่ที่สืบเนื่องจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ หรือการสร้างกระบวนการผลิตนำร่อง

    - ประเภทกิจกรรมงานวิจัยฯ ที่ผู้ว่าจ้างไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีในอัตราพิเศษได้ ประกอบด้วย
        1. การควบคุมคุณภาพและการทดสอบที่เป็นงานประจำ รวมถึงงานที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรฐาน การสอบเทียบมาตรฐาน (Standardization) และการทดสอบวิเคราะห์ของวัสดุ ส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ และกระบวนการที่ทำเป็นงานประจำ
        2. การบริการข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และวิชาการ
        3. การรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ทั่วๆ ไป และการสำรวจผู้บริโภค การโฆษณา การส่งเสริมการขาย (Sales promotion) การวิจัยตลาดและการสำรวจสำมะโนประชากร
        4. การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ และการศึกษาที่เกี่ยวกับนโยบายและการจัดการ
        5. การให้การศึกษา การฝึกอบรม และให้บริการหลังการขาย
        6. การบำรุงรักษาคอมพิวเตอร์และการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่กระทำเป็นประจำ
        7. การสั่งการผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีลักษณะการทำเป็นประจำ เช่น การสั่งการทำงานของเครื่อง CNC รวมถึงการบำรุงรักษาซอฟต์แวร์และระบบคอมพิวเตอร์
        8. การซ่อมแซมและการบำรุงรักษา
        9. การจัดการเก็บข้อมูลให้เป็นระบบระเบียบโดยใช้องค์ความรู้หรือซอฟต์แวร์ที่มีมาแล้ว ซึ่งไม่แสดงถึงลักษณะที่เป็นการคิดค้นหรือออกแบบบริการใหม่ๆ แต่อย่างใด
        10. การนำซอฟต์แวร์ที่มีอยู่ในท้องตลาดมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาของระบบเท่านั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดความรู้หรือเทคโนโลยีใหม่แต่อย่างใด
        11. การส่งทดสอบหรือการขอการรับรองมาตรฐานเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ หรือเพื่อวัตถุประสงค์ในการขึ้นทะเบียนตามข้อกำหนดหรือความต้องการของหน่วยงานราชการ หรือเพื่อให้เป็นไปตาม Requirements ของ Suppliers/Customers เช่น การขอการรับรองมาตรฐานระบบบริหารคุณภาพ ISO GMP HACCP มาตรฐานอุตสาหกรรม การขอการรับรองมาตรฐานอาหารและยา (อย.) เป็นต้น
        12. การวิจัยทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
        13. การสำรวจประสิทธิภาพหรือการศึกษาการบริหารการจัดการ (Efficiency surveys/Management studies)
        14. การเปลี่ยนแปลง วัสดุ เครื่องมือ กระบวนการ หรือรูปลักษณ์ รูปแบบของผลิตภัณฑ์ เพื่อความสวยงาม/เพื่อสร้างความพึงพอใจ/เพื่อการดึงดูดหรือเพื่อประโยชน์อื่นใดในเชิงพาณิชย์โดยมิได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีสาระสำคัญต่อคุณประโยชน์ ประสิทธิภาพ และหน้าที่การทำงาน
        15. การดำเนินการและการบริหารงานในเรื่องสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ หรือใบอนุญาตที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม
        16. การสำรวจแร่ ปิโตรเลียม หรือก๊าซธรรมชาติ
        17. การวิจัยดำเนินงานและการวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์หรือสถิติ
        18. กิจกรรมก่อนที่จะมีการผลิต เช่นการสาธิตความสามารถในการผลิต เพื่อการค้าโดยตรง การใช้เครื่องมือ และการทดสอบการผลิต

 

ดาว์นโหลดเอกสารที่เกี่ยวข้อง
     1. ประกาศกรมสรรพากรให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง "ผู้รับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลนีและนวัตกรรม"

     2. ประกาศกระทรางการคลัง เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 391) เรื่อง "กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยกเว้นภาษีเงินได้สําหรับรายจ่ายเพื่อทําการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม"

  • 3354 ครั้ง